วันอังคารที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ความร้อนกับการขยายตัวของวัตถุ

การขยายตัวของวัตถุ
         เมื่อวัตถุได้รับพลังงานความร้อน  ทำให้อุณหภูมิในวัตถุเพิ่มขึ้น  วัตถุจะขยายตัว และเมื่อวัตถุคายพลังงานความร้อนทำให้อุณหภูมิของวัตถุลดลง วัตถุจะหดตัว

การนำความรู้เกี่ยวกับการขยายตัวของวัตถุไปใช้ประโยชน์

1. การออกแบบบ้านให้ระบายความร้อนได้ดี         จากการขยายตัวของแก๊สได้นำมาใช้ในการออกแบบบ้านทรงไทยให้มีใต้ถุนสูง หน้าจั่วหลังคาสูงมากและมีช่องอากาศเพื่อให้อากาศร้อนที่ลอยตัวสูงขึ้นระบายออกมาจากบ้านได้ดี  ทำให้มีอากาศเย็นจากภายนอกเคลื่อนเข้ามาแทนที่                                                                              
2. การสร้างบอลลูน            การเป่าลมร้อนเข้าไปในบอลลูน  ทำให้อากาศที่อยู่ภายในบอลลูนร้อนและลอยสูงขึ้น  เมื่อมีปริมาณมากจะทำให้บอลลูนสามารถลอยตัวได้                                                                                     
3. การสร้างตัวควบคุมอุณหภูมิ            จากความรู้เกี่ยวกับขยายตัวของของแข็งได้นำมาใช้ในการสร้างตัวควบคุมอุณหภูมิ  เพื่อใช้ในการทำงานของเครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ เช่น เครื่องปรับอากาศ เตารีดไฟฟ้า หม้อหุงข้าวไฟฟ้า เป็นต้น
4.  การสร้างสะพานหรือรางรถไฟ            การสร้างสะพานหรือรางรถไฟมักจะเว้นระยะห่างระหว่างรอยต่อของสะพานหรือรางรถไฟเล็กน้อย  เพื่อป้องกันการขยายตัวของเหล็กเมื่ออากาศร้อนจัด  หรือเมื่อเกิดการเสียดสีกับล้อรถจนทำให้เกิดความร้อน

วันเสาร์ที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

พลังงานความร้อน

            - การวัดอุณหภูมิเป็นการวัดระดับความร้อนของสาร สามารถวัดด้วยเทอร์มอมิเตอร์
            - การถ่ายโอนพลังงานความร้อนของสาร ได้แก่ การนำความร้อนเป็นการถ่ายโอนพลังงานความร้อนโดยการสั่นของโมเลกุลของสาร การพาความร้อน เป็นการถ่ายโอนพลังงานความร้อนโดยโมเลกุลของสารเคลื่อนที่ไปด้วย การแผ่รังสีความร้อน เป็นการถ่ายโอนพลังงานความร้อนจากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า
            - วัตถุที่แตกต่างกันมีสมบัติในการดูดกลืนและคายความร้อนได้ต่างกัน
            - เมื่อวัตถุสองสิ่งอยู่ในสมดุลความร้อน วัตถุทั้งสองมีอุณหภูมิเท่ากัน

สมดุลความร้อน

                   อุณหภูมิผสม คือ อุณหภูมิของวัตถุที่เกิดสมดุลความร้อน
                   สมดุลความร้อน เกิดจากการนำวัตถุ 2 ชนิดที่มีอุณหภูมิต่างกันมาผสมเข้าด้วยกันหรือมาแตะกัน จะมีการถ่ายเทความร้อนเกิดขึ้น จากวัตถุที่มีอุณหภูมิสูงกว่าไปสู่ที่มีอุณหภูมิต่ำกว่าจนกระทั่งมีอุณหภูมิเท่ากัน

                         สูตรการคำนวณ
                            ปริมาณความร้อนลด              =               ปริมาณความร้อนเพิ่ม
                                                Q ลด                     =               Q เพิ่ม      












การคำนวณค่าปริมาณความร้อน

                    ความร้อนแฝงของการหลอมเหลว หมายถึง ปริมาณพลังงานความร้อนที่ใช้ในการเปลี่ยนแปลงสถานะของของแข็งเป็นของเหลว โดยอุณหภูมิไม่เปลี่ยนแปลง
                    ความร้อนแฝงจำเพาะของการหลอมเหลว หมายถึง ปริมาณพลังงานความร้อนที่ทำให้สาร
ที่เป็นของแข็งมีมวล 1 กรัม เปลี่ยนสถานะเป็นของเหลว 1 กรัม โดยอุณหภูมิไม่เปลี่ยนแปลง มีหน่วยเป็นแคลอรีต่อกรัม เช่น ความร้อนแฝงจำเพาะของน้ำแข็ง มีค่าประมาณ 80 แคลอรีต่อกรัม
                    ความร้อนแฝงของการกลายเป็นไอ หมายถึง ปริมาณพลังงานความร้อนที่ใช้ในการเปลี่ยนสถานะของของเหลวกลายเป็นไอ โดยอุณหภูมิไม่เปลี่ยนแปลง
                    ความร้อนแฝงจำเพาะของการกลายเป็นไอ หมายถึง ปริมาณพลังงานความร้อนที่ทำให้สาร
ที่เป็นของเหลวมวล 1 กรัม เปลี่ยนสถานะเป็นแก๊สโดยอุณหภูมิไม่เปลี่ยนแปลง เช่น ความร้อนแฝงจำเพาะของการกลายเป็นไอของน้ำเดือด มีค่าประมาณ 540 แคลอรีต่อกรัม
                    ความจุความร้อนจำเพาะ หมายถึง ปริมาณความร้อนที่ทำให้สารมวล 1 กรัม มีอุณหภูมิเปลี่ยนไป 1 °C
                   ความจุความร้อนจำเพาะของน้ำมีค่าเท่ากับ 1 แคลอรี / กรัม- องศาเซลเซียส (cal/g - °C)
              
                   สูตรคำนวณค่าปริมาณความร้อน
                       Q   =   mL


                               Q   =   ปริมาณความร้อน หน่วย  แคลอรี 
                               m   =   มวลของสาร หน่วย กรัม
                                L   =   ความร้อนแฝงจำเพาะ หน่วย แคลอรี / กรัม
                   
                                Q   =   msΔt




                                Q   =   ปริมาณความร้อนที่ใช้ในการลดหรือเพิ่มอุณหภูมิของสารนั้น ๆ หน่วย  แคลอรี 
                                m   =   มวลของสาร หน่วย กรัม
                                    s =   ความจุความร้อนจำเพาะของสาร หน่วย แคลอรี / กรัม-องศาเซลเซียส
                              Δt   =   อุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงไปอาจเพิ่มขึ้นหรือลดลง

ขั้นตอนการเปลี่ยนสถานะของน้ำแข็งจนกระทั่งกลายเป็นไอน้ำ


ตัวอย่าง
               Ex ถ้านักเรียนต้องการทำให้น้ำแข็งมวล 10 กรัม  เกิดการหลอมเหลวกลายเป็นของเหลวได้หมดพอดี จะต้องใช้ปริมาณความร้อนเท่าใด
วิธีทำ                      m  =  10 กรัม      L  =  80 แคลอรี/กรัม        Q  =  ?

 สูตร  Q  =  mL
 =  10 × 80  =  800 แคลอรี

ดังนั้น น้ำแข็งต้องใช้ปริมาณความร้อนในการหลอมเหลวเท่ากับ 800 แคลอรี
ความร้อนแฝงจำเพาะของการหลอมเหลวของสารชนิดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่น้ำ  จำเป็นหรือไม่ว่าจะต้องมีค่าเท่ากับ 80 แคลอรีต่อกรัม (ไม่จำเป็น)

               Ex ถ้านักเรียนต้องการทำให้น้ำมวล 10 กรัม มีอุณหภูมิเพิ่มขึ้น 1 °C จะต้องใช้ปริมาณความร้อนเท่าใด
  สูตร  Q               =             ms Δt
                                =             10 × 1 × 1     
                                =             10 แคลอรี
ดังนั้น จะต้องใช้ปริมาณความร้อนเท่ากับ 10 แคลอรี
             ความจุความร้อนจำเพาะของสารชนิดอื่นที่ไม่ใช่น้ำ จำเป็นหรือไม่ว่าจะต้องมีค่าเท่ากับ 1 cal/g- °C  (ไม่จำเป็น)

 


การดูดกลืนความร้อนและการคายความร้อนของวัตถุที่มีสีต่างกัน

               วัตถุที่ผิวเรียบหรือเป็นมันเงา และมีสีสว่างจะสะท้อนรังสีความร้อนได้ดี เช่น กระจก
ส่วนวัตถุที่มีผิวขรุขระ และสีมืด ๆ  คล้ำ จะดูดกลืนรังสีความร้อนได้ดี  


               ในฤดูร้อน นักเรียนควรเลือกสวมใส่เสื้อสีอ่อนหรือสีเข้มเพราะเหตุใด

                   (สีอ่อน เพราะสีอ่อนดูดกลืนรังสีความร้อนได้น้อยกว่าสีเข้ม)


               วัตถุที่มีผิวเรียบหรือเป็นมันเงา จะดูดกลืนพลังงานได้ดีเหมือนกับวัตถุที่มีผิวขรุขระและสีมืด ๆ เข้ม ๆ หรือไม่ 

                   (ไม่ โดยวัตถุที่มีผิวเรียบหรือเป็นมันเงาจะดูดกลืนพลังงานได้น้อยกว่าวัตถุที่มีผิวขรุขระและสีมืด)



ประโยชน์ของการดูดกลืนแสงและการคายความร้อนของวัตถุ
1.      ทำตู้อบพลังงานแสงอาทิตย์ โดยใช้หลักการดูดกลืนความร้อนและการเก็บกักความร้อน ทำให้ภายในตู้อบมีพลังงานความร้อนสูงกว่าปกติ
2. กล่องอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ โดยใช้หลักการรับพลังงานจากแสงอาทิตย์โดยตรง ด้วยการนำผลิตภัณฑ์ที่ต้องการทำให้แห้งมาตากแดด เพื่อรับแสงอาทิตย์โดยตรง และจัดทำอุปกรณ์ขึ้นป้องกันฝุ่น ผง และน้ำค้างได้
3. เครื่องกลั่นน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ โดยใช้หลักการดูดพลังงานแสงอาทิตย์ ด้านในตู้ทำด้วยวัสดุดูดแสงสีดำ ซึ่งจะดูดพลังงานจากแสงอาทิตย์ไว้จนเกิดความร้อนและทำให้น้ำที่บรรจุอยู่ภายในระเหยสู่ด้านบน จากนั้นไอน้ำจะคายความร้อนออกมาเมื่อกระทบกับกระจกด้านบนและควบแน่นกลายเป็นหยดน้ำบริสุทธิ์ในที่สุด








การถ่ายโอนพลังงานความร้อนและการใช้ประโยชน์

                   การนำความร้อน คือ การถ่ายโอนพลังงานความร้อนจากที่มีอุณหภูมิสูงไปยังที่มีอุณหภูมิต่ำกว่าโดยอาศัยวัตถุตัวกลางซึ่งได้เคลื่อนที่ไปด้วย วัตถุตัวกลางที่ยอมให้พลังงานความร้อนผ่านได้ดี เรียกว่าตัวนำความร้อน ได้แก่ โลหะต่าง ๆ เช่น เงิน(นำความร้อนได้ดีที่สุด) เหล็ก ทองแดง ดีบุก อะลูมิเนียม เป็นต้น ส่วนวัตถุตัวกลางที่ไม่ยอมให้พลังงานความร้อนผ่านได้ดี  เรียกว่า  ฉนวนความร้อน ได้แก่  อโลหะต่าง ๆ  เช่น  ไม้ พลาสติก ไฟเบอร์ เป็นต้น
                    การพาความร้อน คือ การถ่ายโอนพลังงานความร้อนจากที่ที่มีอุณหภูมิสูงไปยังที่ที่มีอุณหภูมิต่ำ โดยต้องอาศัยตัวกลางที่ได้รับความร้อนแล้วเคลื่อนที่มาเอาความร้อนนั้นไปด้วย เรียกว่า ตัวพาความร้อน ตัวอย่างเช่น เมื่อเราต้มน้ำในส่วนล่างจะได้รับความร้อนเกิดการขยายตัวแล้วเคลื่อนที่ขึ้นไปข้างบน น้ำส่วนที่เย็นกว่าหนักกว่าก็จะจมลงมาแทนที่ทำให้เกิดการเคลื่อนที่ของน้ำไปทั่วภาชนะที่ใช้ต้มน้ำและมีการพาความร้อนเคลื่อนที่ไปด้วย
                    การแผ่รังสี  คือ การถ่ายโอนพลังงานความร้อนออกไปโดยรอบ โดยไม่ต้องอาศัยตัวกลางใด ๆ ทั้งสิ้น เช่น ความร้อนจากดวงอาทิตย์แผ่รังสีมายังโลก รังสีอินฟาเรด แผ่ความร้อนออกมาในลักษณะของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เป็นต้น


ภาพที่ 2 การถ่ายเทความร้อน





การเกิดพลังงานความร้อน (หน่วยที่ใช้วัดพลังงานความร้อน)

                   พลังงานเคมีที่สะสมในอาหาร  สามารถเปลี่ยนรูปเป็นพลังงานความร้อนได้ ดังนั้น การใช้เปลวไฟที่ได้จากการเผาเมล็ดถั่วลิสงในการต้มน้ำจึงทำให้อุณหภูมิของน้ำสูงขึ้น
                   พลังงานความร้อนในอาหารนิยมวัดเป็นหน่วยแคลอรี โดยกำหนดให้ 1 แคลอรี หมายถึง ปริมาณความร้อนที่ทำให้น้ำมวล 1 กรัม (g) มีอุณหภูมิเพิ่มขึ้น 1 °C

                   
1 แคลอรี (cal) มีค่าประมาณ 4.2 จูล (J)




             

หน่วยวัดอุณหภูมิ

               หน่วยที่ใช้วัดอุณหภูมิ มีอยู่หลายหน่วย ที่นิยมใช้ ได้แก่ หน่วยองศาเซลเซียส (°C) ที่แบ่งมาตราส่วนโดยนักวิทยาศาสตร์ชาวสวีเดน ชื่อ อัลเดอรส์ เซลซิอัส (Anders Celsius)
ความร้อน และ อุณหภูมิ
                สสารทั้งหลายประกอบด้วย อะตอมรวมตัวกันเป็นโมเลกุล การเคลื่อนที่ของอะตอม หรือการสั่นของโมเลกุล ทำให้เกิดรูปแบบของพลังงานจลน์ ซึ่งเรียกว่า ความร้อน” (Heat) เราพิจารณาพลังงานความร้อน (Heat energy) จากพลังงานทั้งหมดที่เกิดขึ้นจากการเคลื่อนที่ของอะตอมหรือโมเลกุลทั้งหมดของสสาร
                อุณหภูมิ (Temperature) หมายถึง การวัดค่าเฉลี่ยของพลังงานจลน์ซึ่งเกิดขึ้นจากอะตอมแต่ละตัว หรือแต่ละโมเลกุลของสสาร เมื่อเราใส่พลังงานความร้อนให้กับสสาร อะตอมของมันจะเคลื่อนที่เร็วขึ้น ทำให้อุณหภูมิสูงขึ้น แต่เมื่อเราลดพลังงานความร้อน อะตอมของสสารจะเคลื่อนที่ช้าลง ทำให้อุณหภูมิลดต่ำลง
                หากเราต้มน้ำด้วยถ้วยและหม้อบนเตาเดียวกัน จะเห็นได้ว่าน้ำในถ้วยจะมีอุณหภูมิสูงกว่า แต่จะมีพลังงานความร้อนน้อยกว่าในหม้อ เนื่องจากปริมาณความร้อนขึ้นอยู่กับมวลทั้งหมดของสสาร แต่อุณหภูมิเป็นเพียงค่าเฉลี่ยของพลังงานในแต่ละอะตอม ดังนั้นบรรยากาศชั้นบนของโลก (ชั้นเทอร์โมสเฟียร์) จึงมีอุณหภูมิสูง แต่มีพลังงานความร้อนน้อย เนื่องจากมีมวลอากาศอยู่อย่างเบาบาง
              
สเกลอุณหภูมิ

องศาฟาเรนไฮต์
            ในปี ค.ศ.1714 กาเบรียล ฟาเรนไฮต์ (Gabrial Fahrenheit) นักฟิสิกส์ชาวเยอรมันได้ประดิษฐ์เทอร์มอมิเตอร์ซึ่งบรรจุปรอทไว้ในหลอดแก้ว เขาพยายามทำให้ปรอทลดต่ำสุด (0°F) โดยใช้น้ำแข็งและเกลือผสมน้ำ เขาพิจารณาจุดหลอมละลายของน้ำแข็งเท่ากับ 32°F และจุดเดือดของน้ำเท่ากับ 212°F


องศาเซลเซียส
            ในปี ค.ศ.1742 แอนเดอส์ เซลเซียส (Anders Celsius) นักดาราศาสตร์ชาวสวีเดน ได้ออกแบบสเกลเทอร์มอมิเตอร์ให้อ่านได้ง่ายขึ้น โดยมีจุดหลอมละลายของน้ำแข็งเท่ากับ 0°C และจุดเดือดของน้ำเท่ากับ 100°C

เคลวิน (องศาสัมบูรณ์)
             ต่อมาในคริสศตวรรษที่ 19 ลอร์ด เคลวิน (Lord Kelvin) นักฟิสิกส์ชาวอังกฤษ ผู้ค้นพบความสัมพันธ์ระหว่างความร้อนและอุณหภูมิว่า ณ อุณหภูมิ -273°C อะตอมของสสารจะไม่มีการเคลื่อนที่ และจะไม่มีสิ่งใดหนาวเย็นไปกว่านี้ได้อีก เขาจึงกำหนดให้ 0 K = -273°C (ไม่ต้องใช้เครื่องหมาย ° กำกับหน้าอักษร K) สเกลองศาสัมบูรณ์หรือเคลวิน เช่นเดียวกับองศาเซลเซียสทุกประการ เพียงแต่ +273 เข้าไป เมื่อต้องการเปลี่ยนเคลวินเป็น
เซลเซียส

          หน่วยที่ใช้วัดอุณหภูมิที่นิยมกันอย่างแพร่หลายคือ องศาเซลเซียส ( ํC) องศาฟาเรนไฮต์ ( ํF) และเคลวิน (K) โดยกำหนดว่า อุณหภูมิที่เป็นจุดเยือกแข็งของน้ำบริสุทธิ์ คือ 0 องศาเซลเซียส หรือ 32 องศาฟาเรนไฮต์ หรือ 273 เคลวิน และอุณหภูมิที่เป็นจุดเดือดของน้ำบริสุทธิ์ คือ 100 องศาเซลเซียส หรือ 212 องศาฟาเรนไฮต์ หรือ 373 เคลวิน

เมื่อพิจารณาความสัมพันธ์จะพบว่าอัตราส่วนระหว่าง
อุณหภูมิที่อ่านได้ จุดเยือกแข็ง / จุดเดือด    จุดเยือกแข็ง


ของเทอร์มอมิเตอร์ใด ๆ ย่อมมีค่าคงที่เสมอ เขียนในรูปเศษส่วนอย่างต่ำจะสรุปเป็นสูตรได้ ดังนี้

นั่นคือ การเปลี่ยนองศาระหว่าง องศาเซลเซียส องศาฟาเรนไฮต์ เคลวิน และองศาโรเมอร์ สูตรดังนี้

(c/5) = (f-32)/9 = (K-273)/5 = (R/4)




ภาพที่ 1 เปรียบเทียบสเกลอุณหภูมิทั้ง 3 ระบบ


ความสัมพันธ์ของสเกลอุณหภูมิ
ระยะสเกลฟาเรนไฮต์
= 212 °F32 °F
= 180 °F
ระยะสเกลเซลเซียส
= 100 °C0 °C
= 100 °C
สเกลทั้งสองมีความแตกต่างกัน
= 180/100
= 1.8

ความสัมพันธ์ของสเกลทั้งสองจึงเป็นดังนี้
°F
= (1.8 X °C) + 32
°C
= (°F -32) / 1.8


ตัวอย่าง  อุณหภูมิของร่างกายมนุษย์ 98.6°F คิดเป็นองศาเซลเซียส และเคลวิน ได้เท่าไร

                                     แปลงเป็นองศาเซลเซียส = (°F -32) / 1.8
                                                                              = (98.6 -32) / 1.8
                                                                              = 37°C

                                        แปลงเป็นองศาสัมบูรณ์ = 37+ 273 K
                                                                               = 310 K







                      


  


เทอร์มอมิเตอร์และการวัดอุณหภูมิ

                   ระดับความร้อนในวัตถุ เราสามารถวัดได้อย่างง่าย ๆ โดยใช้กายสัมผัส แต่เนื่องจากกายสัมผัสของเราไม่สามารถเชื่อถือได้แน่นอนเสมอไป เราจึงจำเป็นต้องอาศัยเครื่องมือมาช่วยเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้อง เครื่องมือที่ใช้วัดระดับความร้อนในวัตถุ คือ เทอร์มอมิเตอร์ และเรียกระดับความร้อนในวัตถุว่า อุณหภูมิ


                ลักษณะของเทอร์มอมิเตอร์
                       เทอร์มอมิเตอร์มีลักษณะเป็นแท่งแก้วใสมีรูเล็ก ๆ เป็นหลอดตรงกลาง ส่วนปลายล่างของเทอร์มอมิเตอร์ทำเป็นกระเปาะ
ภาพลักษณะของเทอร์มอมิเตอร์


                ชนิดของสารที่บรรจุอยู่ในเทอร์มอมิเตอร์
                        ส่วนใหญ่จะบรรจุปรอทหรือแอลกอฮอล์ผสมสี มีคุณสมบัติทึบแสง มองเห็นง่าย และไม่เกาะติดหลอดแก้ว ด้านในสามารถขยายตัวและหดตัวได้ดีเมื่อได้รับและคายความร้อน
ภาพเทอร์มอมิเตอร์วัดไข้
                หลักการทำงาน
                         เมื่อปลายกระเปาะของเทอร์มอมิเตอร์ไปสัมผัสกับสิ่งใด ของเหลวที่บรรจุอยู่ภายในจะได้รับการถ่ายเทความร้อนจากสิ่งนั้น แล้วเกิดการขยายตัวขึ้นไปตามหลอดตรงกลางของเทอร์มอมิเตอร์

                         หน่วยที่ใช้วัดอุณหภูมิที่นิยมกันอย่างแพร่หลายคือ องศาเซลเซียส ( ํC) องศาฟาเรนไฮต์ ( ํF) และเคลวิน (K) โดยกำหนดว่า อุณหภูมิที่เป็นจุดเยือกแข็งของน้ำบริสุทธิ์ คือ 0 องศาเซลเซียส หรือ 32 องศาฟาเรนไฮต์ หรือ 273 เคลวิน และอุณหภูมิที่เป็นจุดเดือดของน้ำบริสุทธิ์ คือ 100 องศาเซลเซียส หรือ 212 องศาฟาเรนไฮต์ หรือ 373 เคลวิน
ภาพแสดงหน่วยอุณหภูมิต่างๆ


ภาพแสดงค่าที่อ่านได้จากเทอร์มอมิเตอร์


                หน่วยที่ใช้วัดอุณหภูมิ
                หลักปฏิบัติในการใช้เทอร์มอมิเตอร์วัดอุณหภูมิ
                         1. ให้กระเปาะเทอร์มอมิเตอร์จุ่มหรือสัมผัสกับสิ่งที่ต้องการจะวัดอุณหภูมิเสมอ และระมัดระวังไม่ให้กระเปาะแตะด้านหลังหรือก้นภาชนะ
                         2. ให้ก้านเทอร์มอมิเตอร์ตั้งตรงในแนวดิ่ง
                         3. อ่านค่าอุณหภูมิเมื่อระดับของเหลวขึ้นไปจนหยุดนิ่งแล้ว
                         4. ขณะอ่านค่าอุณหภูมิต้องให้สายตาอยู่ในระดับของเหลวของเทอร์มอมิเตอร์ เพื่อให้อ่านค่าได้ถูกต้อง ไม่คลาดเคลื่อน
                         5. อ่านค่าอุณหภูมิขณะที่กระเปาะเทอร์มอมิเตอร์ยังสัมผัสสิ่งที่วัดอุณหภูมิ เมื่ออ่านเสร็จแล้วจึงเอาออกจากการสัมผัสได้
                ข้อควรระวังในการใช้เทอร์มอมิเตอร์
                       1. เนื่องจากกระเปาะของเทอร์มอมิเตอร์บางและแตกง่าย เวลาใช้จึงควรระมัดระวังไม่ให้กระเปาะไปกระทบกับของแข็ง ๆ แรง ๆ
                       2. ไม่ควรใช้เทอร์มอมิเตอร์วัดสิ่งที่มีอุณหภูมิแตกต่างกันมาก ๆ ในเวลาต่อเนื่องกัน เพราะหลอดแก้วจะขยายตัวและหดตัวอย่างทันทีทำให้เกิดความเสียหายได้
                       3. เมื่อใช้เสร็จแล้วควรล้างทำความสะอาด เช็ดให้แห้ง แล้วเก็บรักษาไว้ในที่ปลอดภัย

                        จุดเดือด หมายถึง จุดที่สารเปลี่ยนสถานะจากของเหลวเป็นก๊าซ ซึ่งเป็นจุดจุดเดียวกับ จุดควบแน่น จุดเดือดของน้ำบริสุทธิ์ คือ 100 องศาเซลเซียส หมายความว่า น้ำที่สถานะของเหลวจะกลายเป็นไอน้ำ (สถานะก๊าซของน้ำ) เมื่ออุณหภูมิมากกว่า 100 องศาเซลเซียส       

                       จุดเยือกแข็ง คือ อุณหภูมิที่ของเหลวเปลี่ยนสภาพเป็นของแข็ง ส่วนมากเท่ากับจุดหลอมเหลว "จุดเยือกแข็ง" ใช้เรียกเมื่อสารเปลี่ยนสถานะจากของเหลวเป็นของแข็ง ตัวอย่างเช่น น้ำ มีจุดหลอมเหลว เป็น 0 องศาเซลเซียส (Celsius) หมายความว่า น้ำแข็ง ซึ่งเป็นสถานะของแข็งของน้ำจะกลายสถานะเป็นของเหลวเมื่ออุณหภูมิมากกว่า 0 องศาเซลเซียส และน้ำก็มีจุดเยือกแข็งที่ 0 องศาเซลเซียส อธิบายว่า น้ำสถานะของเหลวจะกลายสถานะเป็นของแข็งเมื่ออุณหภูมิลดลงต่ำกว่า 0 องศาเซลเซียส